มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง 2 วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ) ด้านใต้คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2331 ใช้เวลา 7 ปี 5 เดือน 28 วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดฯ ให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ. 2344 พระราชทานนามใหม่ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ
นอกจากนี้ที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย ต่อมา รัชกาลที่ 4 ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”
วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เป็นวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) มีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เดิมชื่อ วัดใหม่ เป็นวัดโบราณ เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงผนวชได้เสด็จมาประทับ และทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตติกนิกายขึ้นที่วัดนี้เป็นครั้งแรก ถือเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่ง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ณ วัดนี้อีกด้วย
อีกทั้งหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) จะอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารประดิษฐานที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ซึ่งจะถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9
วัดสุทัศน์ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ.2350 แต่มาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.2390 และพระราชทานนามว่า วัดสุทัศนเทพวราราม
ภายในวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระราชดำริให้สร้าง วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก ขึ้นโดยก่อสร้างเป็นวัดเล็กๆ เพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง และเพื่อให้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาและกิจกรรมต่างๆ ในการเผยแพร่ศีลธรรมและจริยธรรมเพื่อการพัฒนาชุมชน
สำหรับ พระประทานที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดพระรามเก้าฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) จากการออกแบบเสนอโดยเรืออากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีและสถาปนิกของกรมศิลปากรทั้งหมด 7 แบบ โดยพระองค์ทรงแก้ไขแบบด้วยพระองค์เอง
แม้วัดพระรามเก้าจะไม่ได้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9 แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีความผูกพันอย่างใกล้ชิด
วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร หรือ วัดทุ่งสาธิต สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2399 โดยคหบดีชาวลาวชื่อ นายวันดี ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ ภายหลังจากเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายมรณภาพ ทำให้ไม่มีใครสืบสานต่อจนกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาปี พ.ศ.2506 วัดได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ให้สวยงามดังเดิม
และเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2508 ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (รัชกาลที่ 10) ทรงรับวัดทุ่งสาธิตไว้ในพระอุปถัมภ์ พร้อมได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร” ด้วย พระอาจารย์สาธิต ฐานวโร ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายวัดทุ่งสาธิต แด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (พระยศรัชกาลที่ 10 ในขณะนั้น)
ขอบคุณคุณข้อมูลและรูปภาพจาก TrueID